ความต้องการของตลาดแรงงาน สังคม และ/หรือความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต

          สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกและปัจจัยภายในประเทศหลายประการ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของประชากรและสภาพความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเช่น มลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางปฏิกูลมูลฝอย และมลพิษทางดิน ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสังคมและการดำรงชีวิตของประชาชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยจัดทำวิจัยเชิงสำรวจความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตและกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการเรียน วิทย์-คณิต ต่อหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม

เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประกอบการเปิดหลักสูตร พบว่า ความต้องการบัณฑิตสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานส่วนใหญ่ อาทิ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และภาคอุตสาหกรรม

                มีความต้องการคุณวุฒิของบัณฑิตเป็นสาขาวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยมีตำแหน่งว่างมากกว่า 10 อัตรา โดยคุณสมบัติของบัณฑิตต้องมีความรู้พื้นฐานด้านวิชาการและหลักการในสาขาวิชาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติสามารถนำมาใช้ในการประกอบวิชาชีพได้คิดเป็นร้อยละ 64.71 มีความสามารถในการให้คำปรึกษา แนะนำงานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม คิดเป็นร้อยละ 58.82 มีจรรยาบรรณและทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ ร้อยละ 58.82 และจากการผลการสำรวจพบว่าหน่วยงานมีความต้องการบุคลากรทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมคิดเป็นร้อยละ 76.47 ในส่วนผลการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการเรียน วิทย์-คณิต ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 227 คน พบว่ามีระดับความเห็นด้วยอยู่ในค่าเฉลี่ยระหว่าง 3.69-3.99 ซึ่งอยู่ในระดับมากในทุกหัวข้อ จากช่วงคะแนนสูงสุด คือ 4.51-5.00 โดยระดับความสนใจของนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.89 (ระดับมาก)